นิทานสอนใจเรื่อง…ตะแกรงร่อนความคิด
มีชายหนุ่มคนหนึ่งวิ่งมาหาอาจารย์ที่สอนตนเอง ด้วยอาการรีบร้อนกระวนกระวาย เพราะคิดว่าเรื่องที่ตัวเองได้รู้มานั้นมีความสำคัญ จึงอยากให้อาจารย์รับรู้ด้วย สักครู่จึงแจ้งข่าวให้อาจารย์ทราบว่า
“ท่านอาจารย์ ผมมีเรื่องที่เป็นความลับจะแจ้งให้อาจารย์ทราบ”
ฝ่ายอาจารย์เห็นลูกศิษย์วิ่งกระหืดกระหอบมาด้วยความเหน็ดเหนื่อย จึงกล่าวเพื่อให้ลูกศิษย์รู้สึกผ่อนคลายและให้เรียนรู้ที่จะมีสติก่อนที่จะรับฟังข้อมูลดังกล่าวนั้น
“เดี๋ยวก่อน ความลับที่จะบอกนั้น เธอได้ใช้ตะแกรง 3 อันมาร่อนหรือยัง ?”
“ตะแกรง 3 อันที่อาจารย์กล่าวนั้นคืออะไรครับ ?” ลูกศิษย์ถามด้วยความสงสัยและใคร่อยากรู้
ฝ่ายอาจารย์จึงให้ลูกศิษย์เข้ามานั่งใกล้ๆ แล้วชี้แจงวิธีการนำเรื่องตะแกรง 3 อันมาเป็นเกณฑ์วินิจฉัยเรื่องที่รับทราบว่า
ตะแกรง 3 อันนั้นคือ
“ตะแกรงอันที่ 1 เรียกว่า “ความจริง” ความลับที่เธอจะบอกนั้นเป็นความจริงหรือยัง?”
“ผมไม่รู้ แต่ได้ยินเขาพูดต่อๆ กันมา” ลูกศิษย์ตอบด้วยความไม่มั่นใจ
“ตะแกรงอันที่ 2 เรียกว่า“เจตนาดี” หมายถึงความลับที่เธอจะบอกนั้นเต็มไปด้วยเจตนาที่ดีหรือไม่ ?”
“เรื่องที่จะเล่านั้นก็มิได้มีเจตนาที่ดีแต่อย่างใด” ลูกศิษย์ตอบ
“ถ้าเป็นเช่นนั้น เพื่อความแน่ใจในการตัดสินใจ เราน่าจะใช้ตะแกรงอันที่ 3 เข้ามาเป็นเกณฑ์ตัดสินด้วยคือ “เรื่องนั้นมีความสำคัญ” มากใช่ไหม ?”
“ก็ไม่ได้มีความสำคัญแต่อย่างใดนักหรอกครับ” ลูกศิษย์ชี้แจง
เมื่อการถามไถ่เรื่องความลับที่ลูกศิษย์นำมาบอกแก่อาจารย์ โดยมีเรื่องตะแกรง 3 อันเข้ามาเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบ ลูกศิษย์จึงได้ตระหนักรู้ในเรื่องดังกล่าวนั้น ฝ่ายอาจารย์จึงให้ข้อคิดแก่ลูกศิษย์ในเรื่องการรับข่าวสารอันเกื้อกูลต่อการเรียนรู้ชีวิตไว้ว่า
(pin) “ไม่ว่าเราจะรับรู้เรื่องราวอะไรก็ตาม หากว่าเรื่องนั้นไม่ใช่ความจริง ไม่มีเจตนาอันเป็นไปเพื่อความดีงาม และไม่มีความสำคัญ การรับรู้เรื่องนั้นก็ควรเป็นการรับทราบแต่เพียงอย่างเดียว และไม่ควรที่จะถ่ายทอดสู่ผู้อื่น เพราะรังแต่จะเป็นเรื่องรบกวนจิตใจในการที่จะใช้สติปัญญาพัฒนาสิ่งที่ดีกว่า และที่สำคัญเรื่องราวเหล่านั้นก็ไม่มีคุณค่าพอ ที่จะถือเป็นสาระอันควรนำมาสู่ชีวิตจิตใจของตัวเราอีกต่างหาก”